PTTEP ลั่น มี.ค.ได้ข้อสรุปโครงการยาดานา หลัง “โททาล” ถอนการลงทุน

ปตท.มั่นใจไม่เกินกลางเดือนมีนาคมนี้มีความชัดเจนในโครงการยาดานาหลังโททาลฯ ถอนการลงทุน ยืนยันยังไม่ได้รับแจ้งว่าเชฟรอนฯ ถอนตัวด้วย มั่นใจปีนี้บริษัทมีผลประกอบการดีขึ้น เหตุปริมาณการขายเพิ่มและราคาน้ำมันทรงตัวในระดับสูง

นายธนัตถ์ ธำรงศักดิ์สุวิทย์ ผู้จัดการแผนก บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) (PTTEP) หรือ ปตท.สผ. เปิดเผยว่า ตามที่บริษัท โททาลเอนเนอร์ยี่ส์ อีพี เมียนมา ได้มีหนังสือแจ้งการขอถอนตัวจากการเป็นผู้ร่วมทุนและผู้ดำเนินการ (Operator) ในโครงการยาดานา และในบริษัท Moattama Gas Transportation Company (MGTC) ซึ่งดำเนินธุรกิจท่อส่งก๊าซจากโครงการฯ ในประเทศเมียนมา เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2565 นั้น ขณะนี้ ปตท.สผ.ยังไม่ได้รับการแจ้งถอนตัวจากเชฟรอนฯ ในโครงการยาดานาแต่อย่างใด ซึ่ง ปตท.สผ.อยู่ระหว่างการพิจารณาแนวทางบริหารจัดการ คาดว่าจะมีความชัดเจนในต้นเดือนหรือไม่เกินกลางเดือนมีนาคมนี้

ทั้งนี้ ทางโททาลเอนเนอร์ยี่ส์จะยังคงเป็นผู้ดำเนินการในโครงการดังกล่าวต่อไปอีก 6 เดือน เพื่อรักษาความต่อเนื่องในการผลิตก๊าซธรรมชาติของโครงการ ทำให้ปัจจุบันโครงการปิโตรเลียมต่างๆ ของ ปตท.สผ.ในเมียนมายังดำเนินการผลิตไปตามปกติ แม้ว่าบางโครงการอาจมีความล่าช้าจากปัญหาทางการเมืองภายในประเทศ และการแพร่ระบาดโควิด-19

ปัจจุบันโครงการยาดานามีอัตราการผลิตก๊าซธรรมชาติในปี 2564 ประมาณ 770 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน โดยส่งก๊าซฯ ให้กับประเทศไทยประมาณ 570 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เพื่อใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าให้กับพื้นที่ภาคตะวันตกของไทย โดยปริมาณดังกล่าวคิดเป็น 10-15% ของความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติในไทย ขณะที่อีกประมาณ 200 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันใช้สำหรับผลิตกระแสไฟฟ้าในประเทศเมียนมา และคิดเป็นประมาณ 50% ของความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติในเมียนมา

โครงการยาดานา และ MGTC ประกอบด้วยผู้ร่วมทุน ได้แก่ บริษัทโททาลเอนเนอร์ยี่ส์ อีพี เมียนมา ถือสัดส่วนร้อยละ 31.2375 บริษัท Unocal Myanmar Offshore Company Limited (UMOCL) ร้อยละ 28.2625 บริษัท PTTEPI ร้อยละ 25.5 และ Myanma Oil and Gas Enterprise (MOGE) ร้อยละ 15

 

นายธนัตถ์กล่าวต่อไปว่า ในปีนี้ ปตท.สผ.จะโฟกัสเรื่องเปลี่ยนผ่านในการเป็นผู้ดำเนินการ (operator) ในแหล่งเอราวัณและแหล่งบงกช (G1&G2) แม้ว่าการเข้าพื้นที่แหล่งเอราวัณมีความล่าช้าจากเดิมที่ตั้งเป้าไว้ ทำให้เมื่อ ปตท.สผ.เข้าเป็น operator ในวันที่ 24 เม.ย. 2565 ปริมาณการผลิตก๊าซฯ จะลดลงมาอยู่ที่ระดับ 425 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน และจะลดลงเหลือ 250-300 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน ทำให้บริษัทต้องเร่งติดตั้งแท่นเพิ่มเติม 8 แท่น และเจาะหลุมผลิตไม่ต่ำกว่า 100 หลุมเพื่อให้แหล่งเอราวัณกลับมาผลิตก๊าซฯ ได้ตามสัญญา PSC ที่ระดับ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วันภายใน 24 เดือน

สำหรับผลการดำเนินงานในปี 2565 บริษัทจะมีผลการดำเนินงานดีขึ้นจากปีก่อนจากปริมาณการขายและราคาขายที่เพิ่มสูงขึ้น โดยบริษัทวางเป้าหมายปริมาณการขายปิโตรเลียมเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 467,000 บาร์เรล/วัน โดยไตรมาส 1/2565 จะมีปริมาณการขายเฉลี่ย 436,000 บาร์เรล/วัน โดยมีราคาก๊าซฯ ไตรมาส 1/2565 อยู่ที่ 6 เหรียญสหรัฐ/ล้านบีทียู คาดว่าทั้งปีราคาก๊าซฯ อยู่ที่ 5.9 เหรียญสหรัฐ/ล้านบีทียู ส่วนต้นทุนการผลิตต่อหน่วยอยู่ที่ 27-28 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล

ขณะที่ราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในปีนี้จะอยู่ในระดับสูง โดยราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยปีนี้อยู่ที่ 71 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ราคาวิ่งในกรอบ 65-85 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ส่วนราคาก๊าซธรรมชาติ คาดว่าทั้งปีราคาเฉลี่ย 16 เหรียญสหรัฐ/ล้านบีทียู

อ้างอิง
https://m.mgronline.com/business